วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 น. นายวัชระ อันโยธา ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น ดร.นัตยา หล้าทูนธีรกุล ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผล พร้อมคณะศึกษานิเทศก์จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ติดตามแนวทางการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น และขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Zero Dropout ณ มหา’ลัยไทบ้าน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายสัญญา มัคครินทร์ หรือ “ครูสญ” ผู้ผลักดันแนวคิดการเรียนรู้ชุมชน ให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบ
.
“มหา’ลัยไทบ้าน” พื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อทุกคน
มหา’ลัยไทบ้าน เป็น “ศูนย์การเรียนรู้แห่งชีวิตชุมชน” ที่เกิดจากชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะในบริบทของคนชนบทหรือ “ไทบ้าน” แนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นจาก ครูสัญญา อดีตข้าราชการครู ได้เริ่มดำเนินการท่องเที่ยววิถีสีชมพู ทุ่มเทในการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ โดยเริ่มจากกลุ่มเด็ก 5 คน ปัจจุบันขยายเป็น 40 คน ภายใต้ ระบบนิเวศการเรียนรู้ 3 วงจร ได้แก่
* กลุ่มจิตอาสา
* กลุ่มครูเกษียณ
* กลุ่มผู้แทนชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานทางการศึกษา
.
รูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ทุกคน
เด็กและเยาวชนในโครงการสามารถเทียบโอนประสบการณ์จากชีวิตหรือการทำงานเข้าสู่ระบบการศึกษา ผ่านการรายงานออนไลน์ แฟ้มสะสมผลงาน การสัมภาษณ์ และโครงงาน นอกจากนี้ยังมีการพบกลุ่มอย่างเป็นทางการ 4 ครั้ง เพื่อนำไปสู่การวัดและประเมินผลตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และวิชาเพิ่มเติม เพื่อให้นักเรียนสามารถจบการศึกษาในระดับต่าง ๆ ได้แก่
* ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 โดยได้รับวุฒิบัตรจาก ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มูลนิธิกระจกเงา
* ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยได้รับวุฒิบัตรจาก CYF Thailand – มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน
การศึกษารูปแบบนี้ได้รับการสนับสนุนจาก “โรงเรียนมือถือ” นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา – การเรียนผ่านแอปพลิเคชั่น โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Facebook, Tiktok, Line, Google Classroom ออกแบบให้คล้ายการเล่นเกมเพื่อให้เด็กอยากเข้ามาเล่น มีการวัดและประเมินผลผ่านระบบ Ai ทำให้ทราบผลการเรียนได้ตลอดเวลา และเป็นไปตาม มาตรา 12 ของ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ที่เปิดโอกาสให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน และหน่วยงานอื่น ๆ สามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์เด็กทุกคน
.
Thailand Zero Dropout – ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นโยบาย Thailand Zero Dropout มีเป้าหมายลดจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา และให้โอกาสทุกคนสามารถกลับเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยระบบการศึกษารูปแบบเดิม มหา’ลัยไทบ้าน จึงเป็นตัวอย่างของการศึกษาทางเลือกที่เปิดกว้างและให้โอกาสแก่เด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง
.
การลงพื้นที่ครั้งนี้ของศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น ไม่เพียงแต่เป็นการติดตามการดำเนินงาน แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาที่สามารถเข้าถึงทุกคนได้อย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสร้างโอกาสให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม
.
.
ข่าว ภูษณิศา ทองมหา นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ
งานประชาสัมพันธ์ กลุ่มอำนวยการ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น